
ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ
ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีเครื่องมืออยู่หลากหลายชนิดที่จำเป็นต้องใช้งานอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับประเภทงาน เพราะหากใช้งานเครื่องมือกับงานที่ไม่เหมาะสม
อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เครื่องมือต่างๆเหล่านั้นได้แก่ ค้อน ไขควง คีม ตะใบ เลื่อย อุปกรณ์ร่างแบบ เช่นเหล็กขีด วงเวียน เป็นต้น และอื่นๆ อีกมากมาย
การใช้งานเครื่องมือให้มีความปลอดภัย ควรปฏิบัติตามข้อบังคับที่ดังต่อไปนี้
- สวมแว่นตานิรภัยทุกครั้งเมื่อต้องใช้งานเครื่องมือในงานต่างๆ เช่น งานสกัด งานเจียระไนด้วยมือ
เพื่อป้องกันเศษโลหะหรือเศษสิ่งสกปรกกระเด็นเข้าตา - ฝึกอบรมวิธีการใช้งานเครื่องมืออย่างปลอดภัยก่อนใช้งานจริง
- ใช้เครื่องมือคุณภาพดี ไม่ชำรุดหรือเสียหาย
- เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องมือให้ถูกกับชนิดของงาน
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือที่ต้องงอข้อมือขณะทำงาน
- บำรุงรักษาและหมั่นตรวจสอบเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ และเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อยหลังใช้งานเสร็จทุกครั้ง
- ตรวจสอบเครื่องมือทุกครั้งก่อนที่จะใช้งาน
- จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้สะอาดและเป็นระเบียบเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
ข้อห้ามในการใช้เครื่องมือ
- ห้ามใช้เครื่องมือโดยไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ หรือใช้เครื่องมือผิดประเภทงาน
- ห้ามออกแรงหรือกดอัดเครื่องมือมากเกินไปขณะทำงาน
- ไม่ควรใช้เครื่องมือในลักษณะเข้าหาตัว หรือเอาด้านคมเข้าหาตัวเอง
- ห้ามทำการตัดหรือขันน็อตขณะที่ชิ้นงานวางอยู่บนฝ่ามือ
อันตรายและประเภทของเครื่องจักร
เครื่องจักรเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตเป็นอย่างมาก ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานนั้นมีหลากหลายประเภท
แต่ละเครื่องจะมีข้อควรระวังในการใช้งานแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้วอันตรายที่คนทำงานจะได้รับจากเครื่องจักร แบ่งได้ 3 ส่วนคือ
- อันตรายจากเครื่องต้นกำลัง ได้แก่ เครื่องยนต์ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงาน หม้อผลิตกระแสไฟฟ้า หม้อผลิตไอน้ำ และอื่นๆ
- อันตรายจากเครื่องส่งกำลัง ได้แก่ เพลา สายพาน โซ่ กระเดื่อง ท่อลมอัดต่างๆ อันตรายมักเกิดในลักษณะการชนกระแทก
หรือหนีบรั้งเข้าไปติดในเครื่องทำให้สูญเสียอวัยวะจนกระทั่งเสียชีวิต - อันตรายจากเครื่องจักรทำการผลิต ได้แก่ เครื่องกลึง เครื่องกัด เครื่องไส เครื่องเจาะ ที่ใช้ในการผลิตหรือซ่อมบำรุง
ความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักร
เครื่องจักรจัดเป็นเครื่องทุ่นแรง สามารถช่วยให้ทำงานได้ตามความต้องการ ประหยัดเวลาและแรงงาน ทั้งยังทำงานได้มากมายหลายประเภท
แต่ในขณะเดียวกันนั้น หากผู้ใช้ไม่รู้วิธีใช้งานเครื่องจักรที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดโทษและอันตรายมากกว่าประโยชน์เสียอีก
สิ่งที่ควรระวัง
- ต้องแน่ใจว่าเครื่องจักรทุกเครื่องนั้นมีฝาครอบ หรือมีสิ่งป้องกันปิดไว้ที่ตัวเครื่อง เช่น ฝาครอบสายพาน การ์ดป้องกันมือ
- เมื่อเปิดฝาครอบเครื่องจักรแล้ว ให้รีบปิดทันทีเมื่อเสร็จงาน
- อย่าพยายามหยอดน้ำมัน ทำความสะอาด หรือปรับแต่งใดๆ ในขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงานอยู่ ควรหยุดเครื่องและปิดสวิตช์ก่อน
- อย่าพยายามหยุดเครื่องจักรด้วยมือหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
- ต้องแน่ใจเสมอว่าชิ้นงานได้ทำการยึดแน่นกับเครื่องจักรอย่างถูกต้องแล้วจึงเปิดเครื่อง
- ดูและรักษาพื้นให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรให้มีเศษโลหะหรือเศษชิ้นส่วนต่างๆ อยู่ตามพื้น
- ทุกครั้งที่ใช้งานให้ตรวจดูความเร็วของเครื่องให้อยู่ในระดับที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ควรใช้ความเร็วเกินกว่าที่ทางผู้ผลิตกำหนดไว้
- ขณะเครื่องกำลังทำงาน ไม่ควรเอื้อมมือข้ามหรือกระทำการใดๆ ต่อเครื่องที่จะนำไปสู่อุบัติเหตุได้
- ไม่ควรวางอุปกรณ์เกะกะบนเครื่องจักรขณะกำลังทำงาน
- ในขณะที่กำลังทำงาน จะต้องระมัดระวังนิ้วมือ เท้า และทุกส่วนของร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ก่อนทำการเปิดเครื่อง
- ศึกษาถึงข้อมูล กลไก และการบังคับเครื่องให้ดีก่อนใช้งาน
- อุปกรณ์และเครื่องมือตัดทุกชนิด ต้องจับยึดอยู่กับที่ให้แน่น ก่อนจะทำการตัดเฉือนชิ้นงาน
- ควรตีกรอบจำกัดบริเวณเครื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าไปในขณะที่กำลังใช้งานเครื่องอยู่
ความปลอดภัยทั่วไป
- ป้องกันนัยน์ตาและใบหน้า ไม่ให้เป็นอันตรายจากรังสีหรือสะเก็ดไฟโดยการสวมแว่นตานิรภัยและหน้ากากเชื่อม
- ทุกส่วนของร่างกายควรปกปิดด้วยเสื้อผ้าและถุงมือ ซึ่งสามารถป้องกันรังสีได้
- เมื่อปฏิบัติงานเชื่อม ควรใส่รองเท้าหนังหุ้มข้อในขณะปฏิบัติงานเพื่อป้องกันสะเก็ดไฟตกลงบนเท้า
- ขณะกำลังปฏิบัติงานเชื่อม ควรสวมถุงมือหนังสำหรับช่างเชื่อมเสมอ
- สถานที่สำหรับปฏิบัติงานเชื่อมจะต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นหรือควันที่เกิดจากการเชื่อมมาทำอันตราย
กับตา จมูกและปอดของผู้ปฏิบัติงาน - เครื่องเชื่อมและอุปกรณ์งานเชื่อมต่างๆ ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่เปียกชื้น เพราะอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดูด
ดังนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่ในขณะปฏิบัติงานจะต้องไม่เปียกชื้นหรือเปื้อนน้ำมัน